enola holmes

enola holmes หากใครกำลังมองหาหนังแนวฟีลกู้ด สืบสวน ผจญภัยดูช่วงนี้ เราขอแนะนำ Enola Holmes หนังจากค่าย Netflix ที่มัดรวมสามแนวที่ว่าอยู่ในเรื่องเดียว
หนังเล่าเรื่องราวของเอโนลา โฮล์มส์ น้องสาวของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่พบว่าแม่ของเธอหายไปในวันเกิดปีที่ 16 ของตัวเอง จึงริเริ่มภารกิจไขปริศนาตามหาแม่ในลอนดอน เจ้าของบทนำนี้คือ Millie Bobby Brown ที่หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาในบทน้อง Eleven จากซีรีส์ Stranger Things สมทบด้วยดาราแม่เหล็กจากฝั่งอังกฤษอย่าง Henry Cavill, Sam Claflin และ Helena Bonham Carter
หนังยังสอดแทรกประเด็นการขับเคลื่อนทางการเมืองและสิทธิลงไปได้อย่างกลมกลืน ดูแล้วมีความหวัง ตั้งคำถามกับทางเลือกของชีวิตและอนาคตของตัวเรา
บางทีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อาจเริ่มจากการลงมือทำสิ่งเล็กๆ เอโนลาสอนเราเช่นนั้น

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ Enola Holmes ดึงความสนใจฉันได้ตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างหนัง

หนึ่ง–เพราะมีน้อง Millie Bobby Brown ผู้น่ารักและฝากฝีมือการแสดงที่ไว้ใจได้จาก Stranger Things มารับบทนำเป็นน้องสาวของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ สอง–เชอร์ล็อก โฮล์มส์ รับบทโดยหนุ่มฮอตที่สุดคนหนึ่งในฮอลลีวู้ดตอนนี้อย่าง Henry Cavill (ยังไม่นับ Sam Claflin ที่มารับบท Mycroft Holmes พี่ชายคนโตของตระกูลอีกนะ) สาม–หนังกำกับโดย Harry Bradbeer ที่เคยทำซีรีส์ดัง Killing Eve และเรื่องที่ทำให้ฉันขำก๊ากทั้งน้ำตามาแล้วอย่าง Fleabag ยังไม่รวมเหตุผลว่ามันสร้างมาจากวรรณกรรมเยาวชนความยาว 5 เล่มจบที่โด่งดังและมีรางวัลการันตี ว่าด้วยการไขคดีของเอโนลา โฮล์มส์ นักสืบรุ่นเยาว์ที่ฝีมือเก่งฉกาจไม่แพ้พี่ชาย

แค่นี้ต่อมความอยากดูก็ถูกกระตุกโดยพลัน และหลังจากดูจบ อาจพูดได้ว่า Enola Holmes พาฉันไปไกลกว่าคำว่าหนังดูฆ่าเวลาได้แบบเกินคาด เพราะมันรวยอารมณ์ขัน ทำให้ลุ้นจิกเบาะ มีฉากซึ้งจับใจ และมีอีกหลายเหตุผลเลยที่ทำให้ฉันตกหลุมรักมันได้โดยง่ายดาย

โดดเดี่ยวแต่ไม่เปลี่ยวเหงา เพราะมีคนดูเป็นเพื่อน enola holmes

enola holmes ชื่อของ Enola มาจากคำว่า Alone สะกดย้อนหลัง เพราะ Eudoria Holmes แม่ของเธอ (รับบทโดย Helena Bonham Carter) ชอบเกมสะกดคำมากจนหยิบทริกการเล่นมาใช้ตั้งชื่อ ในขณะเดียวกันชื่อนี้ก็บ่งบอกคาแร็กเตอร์ของเอโนลาเป็นอย่างดี เพราะพ่อของเธอตายตอนยังเด็ก พี่ชายทั้งสองก็ออกจากบ้านไปตั้งแต่จำความได้ ทั้งชีวิตของเธอมีแต่แม่คนเดียวเท่านั้น

แล้วพอถึงวันเกิดอายุ 16 ปีของเอโนลา แม่ของเธอก็หายตัวไปอีก นางสาวเอโนลาจึงกลายเป็นนางสาวอโลนอย่างเต็มตัว แม้จะได้พบพี่ชายทั้งสองซึ่งกลับบ้านมาดูแลเธอแทนแม่ ทว่าการปฏิบัติราวกับเธอเป็นภาระก็ทำให้เอโนลาเหงาขึ้นเท่าทวี นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอ ‘เริ่มพูดกับคนดู’ เพื่อคลายความรู้สึกโดดเดี่ยว ในแง่การเล่าเรื่อง วิธีนี้เรียกว่า Break the 4th wall ซึ่งแบรดเบียร์-ผู้กำกับเคยใช้กับซีรีส์อย่าง Fleabag มาแล้ว พอหยิบมาใช้กับตัวละครนี้ก็ดูเป็นกิมมิกสนุกๆ ที่สมเหตุสมผล

นอกจากจะทำให้คนดูรู้สึกถึงความเปลี่ยวเหงาของเอโนลา การหันมาสนทนาเป็นช่วงๆ ของเธอก็ค่อยๆ สร้างความใกล้ชิดระหว่างเรากับเอโนลาทีละนิด จนเมื่อหนังดำเนินไปถึงช่วงท้ายสุด เราก็รู้สึกสนิทกับเธอโดยไม่รู้ตัว

สำรวจอีกด้านของเชอร์ล็อก โฮล์มส์

“เธอใช้อารมณ์ มันเข้าใจได้ แต่ไม่จำเป็น”

แม้จะพูดไม่บ่อยมากจนนับเป็นประโยคติดปากไม่ได้ แต่ประโยคนี้ของเชอร์ล็อก โฮล์มส์เวอร์ชั่นเฮนรี่ คาวิลล์ ก็น่าจดจำมากพอ เพราะนอกจากจะตอกย้ำคาแร็กเตอร์ของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ผู้เย็นชาในเวอร์ชั่นก่อนๆ ที่เราเคยดู ประโยคนี้ยังทำให้เราเห็นว่าตัวละครนี้ก็เข้าใจเรื่องหัวจิตหัวใจกับเขาเหมือนกัน เขามีมุมอ่อนไหวแค่แสดงออกไม่บ่อยเท่านั้น (แต่เรื่องนี้จะบ่อยกว่าที่เคยเห็นแน่ๆ)

แปลกดีเหมือนกันที่พอเชอร์ล็อกกลายเป็นคนมีหัวใจ Nancy Springer นักเขียนนิยายต้นฉบับ, แบรดเบียร์ ผู้กำกับ, Jack Thorne นักเขียนบทหนัง, Legendary และ Netflix ผู้สร้างเวอร์ชั่นนี้ก็โดน Plaintiff Conan Doyle Estate บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ฟ้องร้องว่าการทำให้คาแร็กเตอร์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ซึ่งเป็น ‘คนเย็นชา ไร้ความรู้สึก ชังผู้หญิง ไม่สามารถผูกมิตรกับใคร’ ให้กลายเป็นคนอบอุ่นและใจดีกับน้องสาวนั้นเป็นการฝ่าฝืนลิขสิทธิ์

อันที่จริง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ คือวรรณกรรมที่กลายเป็นทรัพย์สินสาธารณะมาตั้งนานนม แต่เวอร์ชั่นของเฮนรี่ คาวิลล์ ในเรื่องนี้ดันเป็นเชอร์ล็อกที่อยู่ในยุคปี 1884 (ยังไม่เจอ John Watson คู่หูของเขา) มันดันไปตรงกับช่วงเวลาในนิยาย 10 เรื่องสุดท้ายของ Conan Doyle เป๊ะ (ตีพิมพ์ระหว่างปี 1923 ถึง 1927) ซึ่งจะกลายเป็นทรัพย์สินสาธารณะในปี 2022 นู่น ประเด็นคือใน 10 เรื่องสุดท้ายนั้น ดอยล์เขียนโฮล์มส์ให้เป็นคนมีหัวจิตหัวใจแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งตรงกับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ใน Enola Holmes และนั่นคือเหตุผลที่โดนฟ้อง

ถึงตอนนี้การฟ้องร้องยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะหรือแพ้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโฮล์มส์เวอร์ชั่นคาวิลล์นั้นมอบอีกแง่มุมของตัวละครซึ่งน่าสนใจ เป็นโฮล์มส์แบบอบอุ่นก็มีเสน่ห์ไม่ต่างจากเวอร์ชั่นเย็นชาเลยนะ

ประวัติศาสตร์ยุคเก่าที่ยังเป็นจริงในปัจจุบัน

นอกจากการตีความตัวละครแบบใหม่ สิ่งที่ทำให้ฉันตื่นตาคืองานสร้างที่พาคนดูย้อนกลับไปชมวิวสวยๆ ของชนบทอย่างเฟิร์นเดลและบ้านเมืองลอนดอนสมัยนั้น สิ่งที่น่าชื่นชมไม่แพ้กันคือถึงแม้หน้าหนังจะเป็นหนังดูสนุก ย่อยง่าย แต่ก็สอดแทรกประเด็นสังคมอันร้อนแรงลงไป ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว รวมทั้งพัฒนาการตัวละครอย่างเอโนลาได้อย่างเข้มข้น

เอโนลาค้นพบว่าปริศนาการหายไปของแม่เป็นมากกว่า ‘การทอดทิ้งลูก’ เท่านั้น แต่มีความเกี่ยวพันกับการผลักดันกฎหมายปฏิรูปการเลือกตั้งให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน พูดให้เข้าใจง่ายอีกนิดคือ แม่ของเธอมีส่วนร่วมในภารกิจขับเคลื่อนให้เกิดสังคมประชาธิปไตยในคนหมู่มากนั่นเอง

(จากซ้ายไปขวา) MILLIE BOBBY BROWN as ENOLA HOLMES, LOUIS PARTRIDGE as TEWKSBURY. Cr. ALEX BAILEY/LEGENDARY ©2020

การขับเคลื่อนนี้เกิดขึ้นจริงในลอนดอนช่วงปี 1884 เกิดการผลักดันกฎหมาย The Third Reform Act โดยรัฐบาลของ William Gladstone ซึ่งตั้งใจจะขยายฐานการโหวตไปสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น รายละเอียดอาจไม่เหมือนกับในหนังเสียทีเดียว แต่ฉันคิดว่าสิ่งที่ไม่น่าจะต่างคือความพยายามส่งเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนสังคมกดทับ

ฉากหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญในโลกออนไลน์อย่างมากคือฉากเชอร์ล็อก โฮล์มส์ คุยกับ Edith (รับบทโดย Susan Wokoma) ครูสอนการต่อสู้คนแรกของเอโนลา ในร้านชาของเธอ แม้จุดประสงค์ของเชอร์ล็อกคือการมาหาเบาะแสของน้องสาวที่ออกตามหาแม่ในลอนดอน แต่บทสนทนาของพวกเขากลับตึงเครียด เสียดสีคนชนชั้นสูงผู้เป็นอิกนอแรนต์ และน่าเศร้าที่มันยังใช้ได้จริงในปัจจุบัน

“เพราะคุณไม่รู้ว่ามันเป็นยังไงเมื่อไร้อำนาจ คุณไม่สนใจเรื่องการเมือง” อีดิธวิจารณ์

“มันน่าเบื่อจะตาย” เชอร์ล็อกแก้ตัว ก่อนอีดิธจะตอกกลับว่า

“คุณไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพราะโลกที่คุณอยู่สุขสบายดีอยู่แล้ว”

บอกเลยว่า พริกกะเหรี่ยงร้อยเม็ดยังไม่เผ็ดเท่า

เสียงของผู้หญิง เสียงของคนรุ่นใหม่ เสียงของทุกคน

หนังยังสอดแทรกเรื่องการส่งเสียงของคนรุ่นใหม่และผู้หญิง อย่างตัวละครไวเคานต์ทิวส์เบอร์รี่ มาร์ควิสแห่งแบซิลเวเธอร์ (รับบทโดย Louis Partridge) เด็กหนุ่มผู้ถูกไล่ฆ่าเพราะตัวเองกำลังจะได้เป็นขุนนางผู้ออกเสียงโหวตปฏิรูปสังคม หรือตัวละครเอกอย่างเอโนลาผู้ไม่เคยถูกสอนให้ทำตัวเรียบร้อยหรือเป็นกุลสตรีตามแบบแผนตั้งแต่เด็ก “ไม่เหมือนหญิงสาวที่ถูกเลี้ยงมาดี ฉันไม่เคยถูกสอนให้เย็บปักถักร้อย ไม่เคยปั้นกุหลาบขี้ผึ้ง เย็บผ้าเช็ดหน้า หรือร้อยเปลือกหอย ฉันถูกสอนให้ดู ฟัง ถูกสอนให้สู้ นี่คือสิ่งที่แม่สร้างฉันไว้” ซึ่งโชคดีแค่ไหนที่เธอได้รับการปลูกฝังแบบนั้น เพราะทั้งหมดที่แม่พร่ำสอนเธอทั้งการอ่าน วิทยาศาสตร์ การต่อสู้ หรือแม้กระทั่งเกมต่อคำ ย่อมต่อยอดมาเป็นวิชาที่ทำให้เธอเอาตัวรอดในโลกความจริงอันโหดร้าย

เมล็ดพันธุ์ในตัวเอโนลาเจริญงอกงามจนทำให้เธอเป็นอิสระจากขนบของสังคม และยังทำให้เธอเป็นคนคิดนอกกรอบ มองเห็นภาพกว้างของปัญหา และเมื่อประกอบเข้ากับความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นซึ่งติดตัวเธอมา เธอจึงกล้าเสี่ยง กล้าส่งเสียง และกล้าก้าวขาเข้าไปยืนอยู่ฝั่งที่คิดว่าถูก สิ่งที่เธอทำจึงสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง และไปไกลกว่าภารกิจตามหาแม่แบบที่ตัวเธอเองก็คิดไม่ถึง

ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มจากต้นกล้าความคิดว่า ‘เธอสามารถเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้’ และ ‘อนาคตขึ้นอยู่กับเรา’

ใช่ ชีวิตเราเป็นของเรา อนาคตขึ้นอยู่กับเรา จงกล้าเสี่ยง กล้าส่งเสียง กล้าก้าวขาเข้าไปยืนอยู่ฝั่งที่คิดว่าถูก

ใครจะรู้ สิ่งที่เราเลือกทำมันอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง แบบที่ตัวเราก็คิดไม่ถึง enola holmes

บทความที่น่าสนใจ